Blog

รู้ทัน 6 กลโกงจากมิจฉาชีพออนไลน์ พร้อมแนวทางป้องกันสำหรับร้านค้า

June 19, 2025

ในบทความก่อนหน้านี้เราพูดถึงปัญหาการฉ้อโกงที่มาพร้อมกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อความเสียหายทั้งต่อเศรษฐกิจและผู้คน งานวิจัยพบว่าปัญหามิจฉาชีพออนไลน์ในภูมิภาคนี้กำลังทวีความรุนแรงขึ้น โดยมีมูลค่าความเสียหายรวมสูงกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

แล้วหนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบอย่างผู้ประกอบการ เราสามารถรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้อย่างไร? ในบทความนี้เราจะพาไปทำความรู้จัก 6 กลวิธีโกงจากมิจฉาชีพออนไลน์ พร้อมแนวทางป้องกันไม่ให้ร้านค้าและลูกค้าของคุณตกเป็นเหยื่อ

รู้จักกับ “การฉ้อโกง” บนโลกอีคอมเมิร์ซ

การฉ้อโกงบนอีคอมเมิร์ซหมายถึงการทุจริตหรือการทำผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ อาจส่งผลกระทบต่อผู้ค้า ลูกค้า มาร์เก็ตเพลส ไปจนถึงสถาบันการเงิน การฉ้อโกงบนโลกออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบด้วยกัน วันนี้เราเลยยกตัวอย่าง 6 ประเภทที่พบได้บ่อยเพื่อให้ผู้ประกอบการได้รู้เท่าทันและเตรียมรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างประเภทการฉ้อโกงออนไลน์

การขโมยตัวตน (Identity Theft)

การขโมยตัวตนคือการที่มิจฉาชีพโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ เพื่อทำการซื้อสินค้า บริการ เปิดบัญชี หรือก่ออาชญากรรมอื่นๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต

ฟิชชิง (Phishing)

หนึ่งในวิธีหลอกลวงทางออนไลน์ที่หลายคนคุ้นเคย เพราะเชื่อว่าหลายคนคงเคยได้รับอีเมลหรือ SMS ที่ดูผิดปกติและพยายามขอข้อมูลส่วนตัว ฟิชชิงคือเทคนิคที่มิจฉาชีพใช้ข้อความปลอมเพื่อหลอกให้เหยื่อเปิดเผยข้อมูลสำคัญ เช่น รหัสผ่านหรือข้อมูลบัญชีธนาคาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำไปใช้ในการฉ้อโกง หรือเข้าถึงข้อมูลที่เป็นความลับ

การฉ้อโกงแบบขอเงินคืน (Chargeback Fraud)
คือกรณีที่ลูกค้าตั้งใจยื่นเรื่องขอคืนเงินหลังจากได้รับสินค้าเรียบร้อยแล้ว เพื่อให้แพลตฟอร์มหรือร้านค้าคืนเงิน โดยไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรม

ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ปัจจุบันเริ่มพบการฉ้อโกงรูปแบบใหม่ที่มีลักษณะผสมระหว่าง การฉ้อโกงโดยมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง (Triangulation Fraud) และ การฉ้อโกงแบบขอเงินคืน (Chargeback Fraud) โดยปรับให้เข้ากับพฤติกรรมการชำระเงินแบบเรียลไทม์ที่นิยมอย่างการสแกนคิวอาร์โค้ด

มิจฉาชีพจะสร้างร้านค้าออนไลน์ปลอมขึ้น เมื่อมีลูกค้าสั่งซื้อ มิจฉาชีพจะนำออเดอร์ไปสั่งซื้อจากร้านค้าจริง เพื่อขอรับคิวอาร์โค้ดสำหรับการชำระเงินที่ถูกต้องจากแพลตฟอร์ม แล้วส่งคิวอาร์โค้ดนั้นให้ลูกค้า เมื่อลูกค้าชำระเงินเสร็จ มิจฉาชีพจะยื่นขอคืนเงินผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อให้ได้เงินคืนเอง ขณะที่ลูกค้าไม่ได้รับสินค้าและสูญเสียเงินไปโดยไม่รู้ตัว

การโกงผ่านระบบ Affiliate (Affiliate Fraud)
ระบบ Affiliate เป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ให้ค่าตอบแทนแก่ผู้ใช้งานที่ช่วยโปรโมตสินค้าและบริการ แต่ก็มีบางรายที่ฉวยโอกาสจากระบบนี้ ด้วยการสร้างคลิกปลอมหรือใช้บอตสร้าง Traffic เพื่อรับค่าคอมมิชชันโดยไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์

การฉ้อโกงโดยมีบุคคลที่สามเข้ามาเกี่ยวข้อง (Triangulation Fraud)

การฉ้อโกงลักษณะนี้เกิดขึ้นเมื่อมิจฉาชีพปลอมตัวเป็นร้านค้าออนไลน์หรือคนกลาง เพื่อหลอกให้ผู้บริโภคสั่งซื้อสินค้า จากนั้นจึงใช้ข้อมูลการชำระเงินของเหยื่อในการสั่งซื้อสินค้าจากร้านจริง พร้อมขโมยข้อมูลไว้ใช้ซ้ำในอนาคต

การโกงในระบบตัวแทน (Dropshipping Fraud)

ร้านค้าที่ขายสินค้าโดยไม่ต้องสต็อกเองมักเรียกว่า “ร้านค้าตัวแทน” โมเดลธุรกิจนี้ช่วยให้ขยายกิจการได้โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากตั้งแต่เริ่มต้น แต่อาจเกิดปัญหาเมื่อมีมิจฉาชีพเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ตัวแทนบางรายอาจเผลอขายสินค้าให้กับร้านค้าที่ไม่เคยจัดส่งของให้ลูกค้าจริง

ทั้ง 6 ประเภทที่กล่าวมานี้เป็นเพียงตัวอย่างของการฉ้อโกงบนโลกออนไลน์เท่านั้น มิจฉาชีพในปัจจุบันมีพฤติกรรมที่ซับซ้อนและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างต่อเนื่อง การติดตามข่าวสารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบการพร้อมรับมือและปกป้องธุรกิจได้อย่างรอบด้าน

แนวทางป้องกันการฉ้อโกงสำหรับร้านค้าออนไลน์

อย่างไรก็ตาม การรับมือหลังเกิดเหตุอาจไม่ทันการณ์ในหลายกรณี เพราะมิจฉาชีพมีการปรับตัวอย่างสม่ำเสมอ การป้องกันไว้ก่อนจึงเป็นกุญแจสำคัญในการลดความเสี่ยง มาดูกันว่าแนวทางที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปใช้เพื่อปกป้องทั้งร้านค้าและลูกค้าจากภัยการฉ้อโกงออนไลน์มีอะไรบ้าง


สังเกตพฤติกรรมการสั่งซื้อที่ผิดปกติ

หนึ่งในสิ่งที่ร้านค้าควรให้ความสำคัญ คือการจับตาพฤติกรรมการสั่งซื้อที่ดูผิดแปลก เช่น ลูกค้าใหม่ที่มียอดสั่งซื้อสูงผิดปกติ ที่อยู่จัดส่งไม่ตรงกับตำแหน่ง IP ของผู้ซื้อ หรือมีการใช้บัตรเครดิตหลายใบจาก IP หรือบัญชีเดียวกัน หากคำสั่งซื้อเหล่านี้เป็นการฉ้อโกง ร้านค้าอาจไม่เพียงสูญเสียสินค้า แต่ยังต้องรับความเสียหายจากรายได้ที่หายไปเมื่อเจ้าของบัตรตัวจริงยื่นขอปฏิเสธรายการใช้จ่าย

ส่งเสริมความรู้ให้กับลูกค้า
ไม่ว่ามิจฉาชีพจะมีกลยุทธ์มากมายแค่ไหน หากลูกค้ามีความรู้ที่ถูกต้องก็ยากที่จะตกเป็นเหยื่อ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไม “การให้ความรู้” จึงเป็นหนึ่งในด่านแรกๆ ของการป้องกัน เราสามารถให้ความรู้ลูกค้าได้หลายๆ ด้าน ตั้งแต่เรื่องการตั้งรหัสผ่าน การเปิดใช้งานระบบยืนยันตัวตนสองชั้น ไปจนถึงการหลีกเลี่ยงการชำระเงินผ่าน Wi-Fi สาธารณะ การให้ลูกค้ารู้เท่าทันและระมัดระวังจะช่วยลดความเสี่ยงจากการฉ้อโกงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบ 3D Secure
3D Secure คือระบบรักษาความปลอดภัยที่เพิ่มขั้นตอนในการยืนยันตัวตนของผู้ซื้อ เช่น การใช้รหัสผ่านแบบใช้ครั้งเดียว (OTP) ที่ส่งผ่าน SMS เพื่อยืนยันการชำระเงิน การเปิดใช้งาน 3D Secure ช่วยให้ขั้นตอนการชำระเงินปลอดภัยยิ่งขึ้น ทั้งสำหรับร้านค้าเองและลูกค้า โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าที่มียอดใช้จ่ายสูง ซึ่งมักเป็นเป้าหมายของการโจมตีทางไซเบอร์ งานวิจัยพบว่า 3D Secure สามารถลดการโกงผ่านบัตรเครดิตได้มากถึง 40% 

เสริมความปลอดภัยภายในองค์กร

ในปี 2015–2016 บริษัท FACC ผู้ผลิตชิ้นส่วนอากาศยานจากออสเตรีย สูญเงินกว่า 47 ล้านเหรียญจากการที่พนักงานรายหนึ่งถูกหลอกผ่านอีเมลฟิชชิง ที่น่าเป็นกังวลคือความเสียหายเช่นนี้ยังเกิดขึ้นกับอีกหลายองค์กรทั่วโลก สะท้อนให้เห็นชัดว่า ต่อให้ทุ่มเทแค่ไหนในการสร้างธุรกิจ ทุกอย่างอาจพังทลายได้ในพริบตา หากองค์กรไม่มีมาตรการป้องกันที่เพียงพอ การเสริมความปลอดภัยจากภายในจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

จำกัดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลสำคัญ
แม้ในธุรกิจขนาดเล็กหรือสตาร์ทอัพที่มีวัฒนธรรมการทำงานแบบใกล้ชิด เจ้าของกิจการก็ควรกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลการเงินให้เฉพาะพนักงานที่จำเป็นเท่านั้น พร้อมทั้งตรวจสอบและปรับปรุงสิทธิ์เหล่านี้อย่างสม่ำเสมอ

  • เปิดใช้ระบบยืนยันตัวตนหลายขั้นตอน (Multi-factor Authentication)
    เพื่อป้องกันการเข้าถึงระบบโดยไม่ได้รับอนุญาต ควรเปิดใช้ระบบยืนยันตัวตนแบบหลายขั้นตอนในระบบที่สำคัญอยู่เสมอ

  • จัดเก็บและตรวจสอบข้อมูลธุรกรรมอย่างสม่ำเสมอ
    การเก็บข้อมูลธุรกรรมอย่างเป็นระบบและมีการตรวจสอบเป็นระยะ ช่วยให้สามารถตรวจจับความผิดปกติหรือพฤติกรรมต้องสงสัยได้ตั้งแต่เนิ่นๆ

  • ให้ความรู้ด้านความปลอดภัยเบื้องต้นกับพนักงาน
    พนักงานควรได้รับการอบรมเกี่ยวกับการอัปเดตซอฟต์แวร์ การตั้งรหัสผ่านที่ปลอดภัย การเปลี่ยนรหัสผ่านเป็นประจำ รวมถึงการรู้เท่าทันภัยทางไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น ฟิชชิงอีเมลที่ต้องการขโมยข้อมูลของบริษัท


เลือกผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินที่ปลอดภัย

นอกจากมาตรการภายในแล้ว ร้านค้าออนไลน์สามารถเสริมความปลอดภัยได้อีกขั้นด้วยการเลือกใช้ผู้ให้บริการรับชำระเงินที่ผ่านมาตรฐาน PCI-DSS และมีระบบป้องกันขั้นสูง เช่น การตรวจจับความเสี่ยง หรือการคัดกรองธุรกรรมหลายชั้น
Omise เป็นหนึ่งในผู้ให้บริการที่ได้รับความไว้วางใจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา ช่วยให้ธุรกิจรับชำระเงินได้อย่างมั่นใจด้วยโซลูชันที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้

เรียนรู้เรื่องนวัตกรรมและมาตรการในการป้องกันการฉ้อโกงของ Omise เพิ่มเติมได้ที่นี่

Resources

Raman, J., Karandikar, A., & Heckmann, J. (n.d.). 3 Key analytics-led levers for ASEAN banks to tackle scams. Oliver Wyman. https://www.oliverwyman.com/our-expertise/insights/2024/mar/cracking-scams-with-analytics-southeast-asia.html

PYMNTS Intelligence: How 3D Secure 2.0 can help merchants, banks and issuers put a stop to card fraud. (2022, March 8). PYMNTS.com. https://www.pymnts.com/fraud-prevention/2022/pymnts-intelligence-how-3d-secure-2-0-can-help-merchants-banks-and-issuers-put-a-stop-to-card-fraud/

3D Secure: Discover the simplest way to implement it for your business. (2023, December 4). Opn. https://www.opn.ooo/my-en/blog/payments/3d-secure-guide/

Checkout security: How to protect your online transactions. (n.d.). https://www.omise.co/en/blogs/checkout-security-protect-online-transactions-en

Austria’s FACC, hit by cyber fraud, fires CEO. (2016, May 25). Reuters. Retrieved June 19, 2025, from https://www.reuters.com/article/idUSKCN0YG0ZF/