4 นาที

ETDA เร่งสปีด โครงการ National Digital ID จับมือโอมิเซะลงนามพัฒนาระบบยืนยันตัวตน

Palin

MOUwithETDA

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยภายหลังการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือว่า ในวันนี้ ETDA ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล กับบริษัท โอมิเซะ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ รวมทั้งเป็นผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินทางออนไลน์ โดยการลงนามครั้งนี้เพื่อจะร่วมกันพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลในการให้บริการธุรกรรมออนไลน์ของภาครัฐและเอกชนในประเทศไทยตามที่ ETDA กำหนด และให้สอดคล้องกับกฎหมาย ระเบียบ และประกาศที่เกี่ยวข้อง อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมออนไลน์ให้มีความสะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจและการให้บริการแก่สังคมและประชาชนของรัฐบาล

ความร่วมมือกับเอกชนในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ National Digital ID สำหรับให้บริการยืนยันตัวตน ทั้งของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ในการรับบริการต่าง ๆ ของรัฐและเอกชน ซึ่งขอบเขตความร่วมมือในครั้งนี้ ETDA จะทำหน้าที่บริหารจัดการการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศที่จำเป็น เพื่อให้การดำเนินงานภายใต้บันทึกข้อตกลงนี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่าย และเกิดความเชื่อมั่นจากประชาชน โดยทั้งโอมิเซะ และ ETDA จะแลกเปลี่ยน เสริมสร้างความรู้ ประสบการณ์ ข้อมูลทางวิชาการ และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน

MOUwithETDA

“ในการทำธุรกรรมที่สำคัญหรือที่มีมูลค่าสูง กฎหมายกำหนดให้ลูกค้าต้องมาแสดงตนต่อหน้า การร่วมกันพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลจะเป็นก้าวสำคัญ สำหรับการให้บริการแก่ลูกค้าออนไลน์ โดยไม่ต้องมาแสดงตน เป็นการพัฒนาประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างแท้จริง ปัจจัยสำคัญที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการมีโครงสร้างพื้นฐานในการทำให้ประชาชนสามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ คือ ประชาชนสามารถพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลได้และมีความน่าเชื่อถือ ซึ่งในการ MOU กับโอมิเซะในครั้งนี้ ถือเป็นเอกชนรายแรกที่มีความร่วมมือกับ ETDA อย่างเป็นทางการ ในเรื่อง National Digital ID และเร็ว ๆ นี้อาจจะมีเอกชนเข้ามาร่วมมือในเรื่องนี้เพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่ทุกภาคส่วนพยายามผลักดันในเรื่องนี้” นางสุรางคณา กล่าว

แม้โครงการ National Digital ID มุ่งเป้าพัฒนาภาครัฐที่ให้บริการแก่ประชาชนในด้านการประกอบธุรกิจ เพื่อสนับสนุนโครงการการพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกในการประกอบธุรกิจแบบครบวงจร (Doing Business Portal) หากแต่ภาคเอกชนก็สำคัญไม่แพ้กัน โดยเฉพาะการทำให้ภาคเอกชนที่มีข้อกำหนดทางกฎหมายให้ลูกค้าต้องมาแสดงตนทุกครั้งก่อนการทำธุรกรรมสามารถลดขั้นตอนนี้ได้ จะช่วยให้เกิดการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา เช่น บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับบัตรเครดิต ผู้ประกอบอาชีพเกี่ยวกับสินเชื่อส่วนบุคคล เป็นต้น

MOUwithETDA

ด้านนายอิศราดร หะริณสุต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท โอมิเซะ จำกัด กล่าวว่า โอมิเซะ เป็นผู้ให้บริการระบบรับชำระเงินแบบครบวงจร ที่ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถรับชำระเงินจากผู้บริโภคผ่านทางอินเทอร์เน็ตได้อย่างปลอดภัย ผ่านหลากหลายช่องทาง จุดเด่นคือบริการที่เต็มรูปแบบซึ่งช่วยลดความซับซ้อนในการทำธุรกรรมออนไลน์ ระบบการรักษาความปลอดภัยข้อมูลและป้องกันการทุจริตที่ทันสมัย รวมไปถึงความพร้อมใช้งานระบบสูง (service availability) ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับธุรกิจ

สำหรับความร่วมมือกับทาง ETDA นั้น ในฐานะผู้ให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจของโอมิเซะมีความเกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางการเงินซึ่งมีความละเอียดอ่อนค่อนข้างมาก ดังนั้นการยืนยันตัวตนของผู้ใช้จึงเป็นขั้นตอนแรกในการลงทะเบียนใช้งาน และเป็นขั้นตอนที่โอมิเซะให้ความสำคัญและเข้มงวดมากเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นการคัดกรองบุคคล/ ธุรกิจ/ หน่วยงานที่จะเข้ามาใช้บริการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการปฏิบัติตามระเบียบของหน่วยงานที่กำกับดูแลแล้ว ยังเป็นการป้องกันการนำระบบไปใช้ในทางมิชอบ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยยับยั้งการกระทำการทุจริตและช่วยลดโอกาสที่จะเกิดความเสียหายขึ้นได้

MOUwithETDA

“จากความร่วมมือในครั้งนี้ ในอนาคตโอมิเซะต้องการจะเป็นผู้ให้บริการระบบยืนยันตัวตน (Identity Provider - IDP) ที่มีการเชื่อมต่อเข้ากับ Federation Proxy ซึ่งดูแลโดย ETDA โดยทางเรายินดีที่จะปฏิบัติตามระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการดังกล่าว และคาดหวังที่จะเห็นความร่วมมือในลักษณะนี้จากองค์กรอื่นๆ อีกเช่นกัน เชื่อว่าหากได้ผู้ที่มีความชำนาญการ และเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาทำงานร่วมกัน จะสามารถเห็นการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากยิ่งขึ้น” นายอิศราดร กล่าว

บทความอื่นๆ

ลงทะเบียนเพื่อรับข่าวสารดีๆ จากโอมิเซะ
ขอบคุณ!

ขอบคุณที่ลงทะเบียนกับโอมิเซะ

เว็ปไซต์นี้มีการใช้คุกกี้เพื่อวิเคราะห์การใช้และปรับการใช้งานให้เหมาะกับท่าน เมื่อกดยอมรับหรือยังคงเข้าชมเว็บไซต์ต่อ เราถือว่าท่านยินยอมในการใช้งานคุกกี้ของเว็บไซต์ อ่านนโยบายความเป็นส่วนตัว